วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

" ไต้หวัน " ในความเป็นอยู่ เรียนรู้สิ่งเก่า ต่อเติมสิ่งใหม่ .... ตีพิมพ์ใน นสพ.เดลินิวส์


 เรื่องราวมีดีสถานที่น่าเที่ยว " เกาะไต้หวัน "
พรุ่งนี้ๆจ๊ะ " หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หน้า 4 คอลัมภ์วาไรตี้ พาเที่ยวต่างแดง " ฉบับ วันเสาร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556
敬請期待…2013年2月16日刊登之泰國"每日日報"第四頁,介紹台灣景點的"帶你遊世界"專欄。

.... เมจิกออนทัวร์ พาเจาะลึก " ไต้หวัน " ในความเป็นอยู่ 
เรียนรู้สิ่งเก่า ต่อเติมสิ่งใหม่ .... เที่ยวให้แปลก เที่ยวให้ต่างบนเส้นทางสวยงามแปลกใหม่ ค้นพบมหัศจรรย์ท่องเที่ยวมุมใหม่ @ ไต้หวันเมืองในฝัน 
.
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามอ่านได้ใน 
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันเสาร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 
เล่มใหญ่ หน้า 4 คอลัมภ์วาไรตี้ พาเที่ยวต่างแดง



“ไต้หวัน”ในความเป็นอยู่                                  
เรียนรู้เก่าต่อเติมสิ่งใหม่

“ฟ้าสูงแต่มือต่ำ” กลางดึกเหน็บหนาวไกด์หนุ่มทิ้งภาษิตให้เรานอนคิดเมื่อถามถึงค่านิยมคนรุ่นใหม่ของไต้หวัน เป็นเรื่องน่ากลัวไม่ต่างจากเส้นทางหนุ่มสาวบ้านเรา ทำไมนะเหรอ ก็เมื่อเรามุ่งแต่เรียนๆ สอบๆ เพื่อให้ได้ใบปริญญาขั้นสูงสุด แต่ไม่เคยได้ลงมือทำงานจริง ครั้นจบไปสมัครงานกลับเรียกเงินเดือนสูงเหมือนท้องฟ้า ทั้งที่ฝีมืออยู่เรี่ยดิน
                อย่าเพิ่งพลิกอ่านหน้าอื่น... ที่บอกอย่างนี้เพราะกลัวเครียดกันเสียก่อน ด้วยไต้หวันแม้เป็นเกาะ แต่ผสมผสานวัฒนธรรมมากมาย ตั้งแต่ชนพื้นเมืองและการเข้ามาของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงชาวต่างชาติแถบถิ่นยุโรป หรือการเข้ามาปกครองของญี่ปุ่นที่ดูแล้วมีอิทธิพลต่อความคิดการพัฒนาไต้หวันไม่น้อย
                ก่อนไปมองอนาคต ลองย้อนดูอดีตที่เมืองไถจง ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเมืองทั้งหมดผ่านหมู่บ้านโบราณฟอร์โมซา ที่เปิดให้บริการมาได้พักหนึ่ง สนนราคาค่าเข้า 150 บาทต่อคน ด้านในแบ่งออกเป็น 4 โซน โดยจัดวางตกแต่งในรูปแบบบ้านตามช่วงเวลาตั้งแต่ ชนพื้นถิ่นจนการเข้ามาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่สำคัญหากใครชอบโปสเตอร์ในยุค 60 คงสนุกเป็นพิเศษ
                ส่วนแบบบ้านไม้น่าสนใจ เแม้เป็นบ้านจำลองแต่ยังเน้นรายละเอียดด้านนอกทั้งมุมหลังคา และเนื้อไม้ในการตกแต่ง พื้นที่ชั้นล่างส่วนใหญ่เป็นร้ายขายของและร้านอาหาร หรือลองนั่งกินริมทางมีการจัดชุดเก้าอี้แบบนั่งยองๆ ซึมซับบรรยากาศริมถนนของตึกก่ออิฐแดง
รอบนี้เรามากับ “เมจิกออนทัวร์” ไต้หวันแรกเริ่มการเข้ามาของสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ตั้งถิ่นฐานหลังขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้การนำของนายพลเจียง ไคเชก แยกกรมกองต่างๆ เป็นเหมือนหมู่บ้าน และด้วยความหลากหลายของคนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ในหลายพื้นที่ทำให้อาหารการกินถูกผสมผสาน จนเป็นรสชาติน่าลิ้มลองไม่น้อย
นั่นเป็นแนวคิดต่อมาในการผสมผสานเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่อย่างชานมไข่มุกที่ “ร้านชุนซ่วยถัง” ถือเป็นเจ้าตำหรับเมื่อเจ้าของร้านเกิดปิ๊งไอเดียครั้งเดินทางไปญี่ปุ่น เห็นการผสมค็อกเทลจึงนำแนวคิดเหล่านั้นมาผสมจนได้สูตรใหม่ ซึ่งครั้งนี้นอกจากเราจะได้ลองทำชานมไข่มุกแล้ว ยังได้ชิมชาตามขนบของที่นี่อีกด้วย
                การชงชาของไต้หวันรับอิทธิพลจากราชวงศ์ซ่งของจีน สิ่งสำคัญในการดื่มด่ำให้ถึงอารมณ์รสชาอยู่ที่ กลิ่นกำยาน ดอกไม้ในแจกัน ภาพวาด และการบริการ กระบวนการทำผู้ชงต้องมีความรู้เกี่ยวกับชาอย่างปรุโปร่งผ่านกลิ่นรวมถึงที่มาของชา เพื่อเลือกกาน้ำในการชงให้เหมาะสม เมื่อถึงการดื่มตามธรรมเนียมควรดื่มให้ได้ 3 จอกต่อแก้ว ไม่ควรดื่มรวดเดียวหมดในคราวเดียว ขั้นตอนการชงผู้ชงจะไม่พูดคุยกับผู้อื่นเพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกต่างๆ ลงไปยังภาชนะที่ชงอยู่
                คืนนี้ได้ชาอุ่นๆ ทำให้ผ่อนคลายดีไม่น้อย เลยลองแวะเดินตลาด “ฝงเจี๋ยไนท์มาร์เก็ต” ก่อนเข้านอนออมแรงไว้เดินทางต่อวันพรุ่งนี้
                รุ่งขึ้นไปต่อยังเมืองหน่านโถเข้าชม “ซีโถหมู่บ้านปีศาจ”เป็นที่นิยมของวัยรุ่นชาวไต้หวันมาพักผ่อนในธรรมชาติ เต็มไปด้วยต้นส้นเหยียดยอดท้าแสงแดด จริงแล้วกว่าต้นไม้เหล่านั้นจะสูงใหญ่ได้ขนาดนี้ต้องผ่านทั้งช่วงเวลาดีและไม่ดีมามากมาย ซึ่งเริ่มแรกช่วงที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามาปกครองไต้หวัน มีคุณลุงแดนอาทิตย์อุทัยมาปลูกต้นไม้พรวนดินอยู่ที่นี่เพื่อหวังให้เป็นอุทยานธรรมชาติ จนวันหนึ่งแกโค่นต้นไม้เพื่อนำไปใช้ แต่เคราะห์ร้ายไม้ใหญ่โค่นเกือบล้มทับ โชคดีมีก้อนหินใหญ่ค้ำไว้ก่อน หลังจากนั้นแกไม่ตัดต้นไม้ในนี้อีกเลย จนที่สุดคุณลุงกลับประเทศและส่งไม้ต่อให้ชาวไต้หวันดูแลพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
                สัญลักษณ์ของที่นี่คือเจ้าหมีตามขนบธรรมเนียมแบบญี่ปุ่น จึงให้ชื่อหมู่บ้านปีศาจเพื่อขับไล่ความชั่วร้าย ขณะเดียวกันการตกแต่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากแดนอาทิตย์อุทัย ถ้าลองเดินเล่นไปด้วยกินไปด้วยไม่รีบร้อนนับว่าเหมาะกับหลายคู่รักควรมาเที่ยว
                หลังจากนั้นเดินทางไปตำบลจี๋จี๋ ในเมืองหน่านโถ เพื่อขึ้นรถไฟสายเก่าที่ยังมีการอนุรักษณ์อยู่ เพราะเมืองนี้แต่เดิมเป็นเส้นทางขนไม้อันสำคัญที่นำออกมาจากภูเขา ซึ่งเส้นทางรถไฟคือการลำเลียงที่ดีที่สุดในช่วงนั้น ที่สำคัญสถานีรถไฟจี๋จี๋ก็คลาสสิกไม่เบา ด้วยรูปโฉมออกแบบเรียบง่ายเน้นการใช้สอน แต่มีลวดลายไม้เก๋ๆ ซ่อนอยู่ในหลายมุม ยิ่งกว่านั้นเมื่อแผ่นดินไหวในปี 2542 ชาวเมืองต่างยึดสถานีรถไฟแห่งนี้เป็นที่แรกในการฟื้นฟูเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ของชาวเมือง ถือเป็นอีกสถานที่สำคัญทางจิตใจไม่น้อย
                เมื่อรถไฟมาเราต้องนั่งต่อไปอีกสามสถานี สองข้างทางเต็มไปด้วยภูเขาและพื้นที่โล่งกว้าง และเมื่อถึงสถานีปลายทางเบื้องหน้าคือภูเขาสูงชัน ละแวกเดียวกันมีโบกี้รถไฟเก่าเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางสายเก่าแห่งนี้ ซึ่งพอเดินขึ้นไปอีกหน่อยจะเจอโรงงานจำลองการขนไม้ในสมัยก่อนที่ผ่านการแปรรูปอาบน้ำยาก่อนขนส่ง
                ไหนๆ โยงถึงเรื่องเศรษฐกิจ เราเลยมีคำถามไปยังไกด์หนุ่มถึงความความรู้สึกคนไต้หวันในการรวมประชาคมอาเซียนอีกไม่กี่ปี สิ่งที่ได้คือคนไต้หวันวิตกกังวลไม่น้อยเพราะประเทศแถบอาเซียนไต้หวันค่อนข้างมีบทบาทในการจับมืออยู่น้อย เมื่อเทียบกับพี่เบิ้มหลายๆ ชาติ ซึ่งนี่หากมองย้อนกลับไปสำหรับนักลงทุนไทยเองไต้หวันถือเป็นอีกตลาดที่น่านำกลับไปขบคิดไม่น้อย
                ตกเย็นล่องเรือกันที่ทะเลสาบสุริยันจันทรา แม้ลมหนาวโหมพัดกันจนสะท้าน แต่ทะเลสาบน้ำจืดที่นี่ก็มีคนมาเที่ยวไม่ได้ขาด ซึ่งเดิมมีเกาะกลางขนาดพอประมาณมีชาวพื้นเมืองอาศัย แต่หลังจากแผ่นดินไหวและสร้างเขื่อนทำให้แผ่นดินกลางทะเลสาบหายไป จนชาวบ้านต้องอพยพขึ้นฝั่ง 
                ไฮไลท์นอกจากจะล่องเรือแล้ว ต้องแวะวัดพระถังซำจั๋ง ที่อยู่บนสุดของอีกฝั่งทะเลสาบ แต่ก่อนจะขึ้นไปวัดต้องแวะร้านไข่พะโล้เจ้าดัง ที่เป็นร้านเดียวในย่านนี้ เนื่องจากสมัยนายพลเจียง ไคเชก มีชีวิตอยู่มาที่นี้ต้องแวะกินประจำ จนเซ็นใบรับรองให้ขายได้ในสถานที่แห่งนี้
                คืนนี้การท่องเที่ยวไต้หวัน จ.หนานโถ จัดเลี้ยงต้อนรับและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว เข้ามาสัมผัสความงดงามที่เที่ยวได้ตลอดปี แถมราคายังไม่แพงอย่างที่คิด
                ปัจจุบันล้วนมีร่องรอยอดีตแฝงอยู่เสมอ แน่นอนว่าความเป็นไต้หวันและมิตรไมตรีของผู้คนก็ผ่านการหล่อหลอมเหล่านั้นมา

                (ล้อมกรอบ)
                การเดินทางสายการบิน China Airlines และสายการบินอื่นๆ ให้บริการจากกรุงเทพฯ ถึงไต้หวันทุกวัน
                สภาพภูมิอากาศ เกาะไต้หวันตั้งอยู่ระหว่างเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ทำให้ที่นี่อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 22 องศาเซลเซียสต่อปี (ไม่รวมพื้นที่ๆ อยู่บนยอดเขาสูง) อาจจะมีหิมะในพื้นที่ๆ อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,000 เมตรขึ้นไป มีฝนตกชุกและมีพายุพัดผ่านบ่อยครั้ง
เวลาในประเทศไต้หวัน เร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง
ภาษาจีนกลาง (Mandarin) เป็นภาษาราชการ ฮกเกี้ยน (หมิ่นหนาน) เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้ทั่วไปคู่กับจีนกลาง ข้าราชการระดับสูงทั่วไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้
เงินตราใช้สกุลเงิน เหรียญไต้หวัน (New Taiwan Dollar : NTD) 35.06 NTD = 1 USD หรือ 1 เหรียญไต้หวัน = 1.2168 บาท
                ของฝาก รองเท้า งานแกะไม้และงานฝีมือ ขนม ใบชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น